บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) ให้ความสำคัญและมีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใสและเป็นธรรม โดยยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และตามหลักปฏิบัติสากล
บริษัทได้ตระหนักถึงความสำคัญของการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทมีนโยบายการกำหนดความรับผิดชอบ แนวปฏิบัติ และมาตรการในการดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการคอร์รัปชั่นกับทุกกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัท และเพื่อให้การตัดสินใจและการดำเนินการทางธุรกิจที่อาจมีความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชั่นได้รับการพิจารณา และปฏิบัติอย่างเหมาะสม บริษัทจึงได้จัดทำ “นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น” เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท (“บุคลากรของบริษัท”) ยึดถือในการปฏิบัติงาน ตลอดจนเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องได้รับทราบเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของบริษัทในการต่อต้านการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ บริษัทส่งเสริมให้ทุกคนยึดถือและปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อบังคับในการทำงาน และขอความร่วมมือให้บุคลากรของบริษัท ศึกษาทำความเข้าใจและปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ในนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นฉบับนี้อย่างเคร่งครัด ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามย่อมถูกพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบของบริษัท โดยอาจได้รับการลงโทษขั้นสูงสุดคือ เลิกจ้าง หรือยกเลิกสัญญาจ้าง ในขณะเดียวกัน บริษัทมีนโยบายที่จะไม่ลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อบุคลากรของบริษัทที่ปฏิเสธการคอร์รัปชั่น แม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ และในกรณีที่การฝ่าฝืนนั้นเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามอาจถูกดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายอีกด้วย
บริษัท หมายถึง บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)
บุคลากรของบริษัท หมายถึง กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท
การคอร์รัปชั่น หมายถึง การกระทำใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอ (Offering) การให้คำมั่นสัญญา (Promising) การขอ (Soliciting) การเรียกร้อง (Demanding) การให้หรือรับ (Giving or Accepting) ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลอื่นใดที่ทำธุรกิจกับบริษัท ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ได้มา หรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ ยกเว้นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้าให้กระทำได้
การช่วยเหลือทางการเมือง หมายถึง การช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเงิน หรือในรูปแบบอื่นเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง เช่น การให้สิ่งของหรือบริการ การโฆษณาส่งเสริมหรือสนับสนุนพรรคการเมือง การซื้อบัตรเข้าชมงานที่จัดเพื่อระดมทุนหรือบริจาคเงินให้แก่องค์กรที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคการเมือง เป็นต้น
การบริจาคเพื่อการกุศล หมายถึง การบริจาคเงิน สิ่งของ หรือสิ่งอื่นใดที่สามารถคำนวณได้เป็นตัวเงินให้กับองค์กรสาธารณกุศล โดยไม่หวังผลตอบแทน
เงินสนับสนุน หมายถึง เงินที่ได้ให้หรือได้รับ สิ่งของที่ได้ให้หรือได้รับ หรือผลตอบแทนอื่นใดที่จะสามารถคำนวณได้เป็นตัวเงิน จากลูกค้า คู่ค้า หุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจตราสินค้า หรือชื่อเสียงของบริษัท
ค่าของขวัญ ค่าบริการต้อนรับและค่าใช้จ่ายอื่นๆ หมายถึง การให้ หรือรับของขวัญ ค่าบริการต้อนรับ ค่าเลี้ยงรับรอง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งไม่เป็นการกระทำที่กระทบกับผลการดำเนินงานของบริษัท แต่เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นการให้ หรือรับในนามบริษัท ไม่ใช่ในนามพนักงาน โดยเหมาะสมกับเทศกาล เช่น ช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ ตรุษจีน ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปกติ และเป็นไปอย่างเปิดเผย
การจ่ายเงินเพื่ออำนวยความสะดวก หมายถึง ค่าใช้จ่ายจํานวนหนึ่งที่จ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างไม่เป็นทางการ และเป็นการให้เพียงเพื่อให้มั่นใจว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐจะดําเนินการตามกระบวนการ หรือเป็นการกระตุ้นให้ดําเนินการรวดเร็วขึ้น โดยกระบวนการนั้นไม่ต้องอาศัยดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นการกระทําอันชอบด้วยหน้าที่ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น รวมทั้งเป็นสิทธิที่นิติบุคคลพึงจะได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว
เจ้าหน้าที่รัฐ / พนักงานรัฐ หมายถึง ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคล หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท คณะกรรมการหรือบุคคลซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่ง หรือมติใดๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล
ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หมายถึง การดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่มีความต้องการส่วนตัว หรือของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าโดยทางสายเลือดหรือทางอื่นใด เข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ซึ่งอาจขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อผลประโยชน์สุงสุดของบริษัท
1. หลักการทั่วไป
บริษัทมีนโยบายห้ามบุคลากรของบริษัทยอมรับหรือให้การสนับสนุนการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยครอบคลุมถึงบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทและกําหนดให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นอย่างสมํ่าเสมอ ตลอดจนมีการทบทวนแนวทางการปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบาย ระเบียบปฏิบัติ ข้อกําหนด ข้อบังคับ ประกาศ กฎหมาย และการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ
นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นนี้ ให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัท รวมถึงธุรกิจของบริษัท ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
2. การช่วยเหลือทางการเมือง
บริษัทมีนโยบายไม่ช่วยเหลือทางการเมืองไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือกระทำการอันเป็นการฝักใฝ่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดๆ โดยบริษัทมีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการช่วยเหลือทางการเมือง ดังนี้
- (1) บริษัทดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นกลางทางการเมือง โดยจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วม และไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใด หรือผู้มีอำนาจทางการเมืองคนหนึ่งคนใด ไม่นำเงินทุนหรือทรัพยากรของบริษัทไปใช้สนับสนุน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมแก่พรรคการเมืองหรือนักการเมืองใดๆ
- (2) บุคลากรของบริษัทมีสิทธิเสรีภาพในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ต้องไม่อ้างความเป็นพนักงาน หรือนำทรัพย์สิน อุปกรณ์ เครื่องมือใดๆ ของบริษัทไปใช้ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการใดๆ ทางการเมือง หรือกระทำการใดๆ อันก่อให้เกิดความเข้าใจว่าบริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องหรือให้การสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว
- (3) บริษัทแจ้งให้บุคลากรของบริษัททราบว่า บริษัทจะไม่เข้าร่วมหรือให้ความช่วยเหลือในกิจกรรมทางการเมือง
3. การบริจาคเพื่อการกุศล และเงินสนับสนุน
บริษัทมีนโยบายในการควบคุมดูแลการบริจาคเพื่อการกุศล และการให้เงินสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่า กิจกรรมดังกล่าวไม่ได้เป็นช่องทางให้เกิดการคอร์รัปชั่นโดยการกำหนดขั้นตอนและการควบคุมที่ชัดเจน ตลอดจนกระบวนการในการตรวจสอบและติดตามเพื่อให้มั่นใจว่าการบริจาคเพื่อการกุศล และเงินสนับสนุนเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นไปตามระเบียบของบริษัทและถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ บริษัทมีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริจาคเพื่อการกุศล และเงินสนับสนุนดังนี้
- (1) กิจกรรมการบริจาคเงินและการจ่ายเงินสนับสนุนจะต้องมีความเกี่ยวข้อง สอดคล้อง และมีความสัมพันธ์กับแผนงาน นโยบาย และวัตถุประสงค์ของบริษัท รวมทั้งมีการกําหนดระยะเวลาเริ่มต้นและระยะเวลาสิ้นสุดที่แน่ชัด
- (2) บริษัทกําหนดหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนในการนําเงินบริจาคหรือเงินสนับสนุนไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ โดยการเบิกจ่ายทุกครั้งจะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้มีอํานาจของบริษัท รวมทั้งต้องมีการระบุจํานวนเงินและแหล่งที่นําเงินไปใช้หรือผู้รับเงิน ตลอดจนจัดเก็บหลักฐาน หรือใบเสร็จรับเงินไว้เพื่อการตรวจสอบอย่างครบถ้วน
- (3) บุคลากรของบริษัทที่ประสงค์จะให้บริษัทเข้าร่วมบริจาคเพื่อการกุศลหรือเงินสนับสนุนจะต้องจัดทําแบบคําขออนุมัติการบริจาคเพื่อการกุศลหรือเงินสนับสนุนโดยระบุ ชื่อผู้รับบริจาคและหรือผู้รับการสนับสนุนและวัตถุประสงค์ของการบริจาคหรือสนับสนุน พร้อมแนบเอกสารประกอบ เสนอขออนุมัติจากผู้มีอํานาจอนุมัติของบริษัท ตลอดจนนำส่งหลักฐาน หรือใบเสร็จรับเงินให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อการตรวจสอบอย่างครบถ้วน
- (4) การติดตามและสอบทานเพื่อให้มั่นใจว่าการบริจาคเพื่อการกุศลหรือการใช้เงินสนับสนุนไม่ได้กระทําเพื่อการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกํากับและตรวจสอบภายใน
4. ค่าของขวัญ ค่าบริการต้อนรับ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
บริษัทมีนโยบายห้ามบุคลากรของบริษัท เรียกร้อง รับ ให้ สัญญาว่าจะให้ ทรัพย์สินหรือสิ่งมีค่าใดๆ หรือประโยชน์อื่นใดกับลูกค้า คู่ค้า หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจเพื่อจูงใจให้ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติ หรือการกระทําใดๆ ที่เข้าข่ายดังกล่าว เว้นแต่กรณีปกติประเพณีนิยมที่มีการให้ของขวัญแก่กัน แต่ต้องมีราคาหรือมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท ในกรณีที่มูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท ต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือตามระเบียบบริษัทที่กำหนด โดยบริษัทกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับค่าของขวัญ ค่าบริการต้อนรับ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ดังนี้
- (1) ห้ามบุคลากรของบริษัท เรียกร้อง รับ ให้ สัญญาว่าจะให้ ทรัพย์สินหรือสิ่งมีค่าใดๆ หรือประโยชน์อื่นใดจากลูกค้า คู่ค้า และหรือจากบุคคลที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับบริษัทโดยเด็ดขาดไม่ว่ากรณีใด ทั้งเป็นการส่วนตัวหรือเพื่อบุคคลอื่น ซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจในการปฏิบัติงานอย่างไม่เป็นธรรม เกิดความลําเอียง หรือเกิดความลําบากใจ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่ขัดกันได้
- (2) การรับหรือให้ดังกล่าว จะต้องไม่ทําให้เกิดความได้เปรียบใดๆ ผ่านการกระทําที่ไม่เหมาะสมหรือเป็นการแลกเปลี่ยนอย่างชัดเจนหรือแอบแฝง เพื่อให้ได้มาซึ่งการช่วยเหลือหรือผลประโยชน์ตอบแทน ทําให้เกิดการยินยอมผ่อนปรนในข้อตกลงทางธุรกิจที่ไม่เหมาะสม ส่งผลต่อการตัดสินใจเชิงธุรกิจ ทั้งนี้ ในการให้ของขวัญของบริษัทนั้น จะต้องให้ในนามบริษัท ไม่ใช่ในนามส่วนตัว โดยอาจจัดทําเป็นของขวัญที่มีตราสัญลักษณ์ของบริษัทก็ได้ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับเทศกาล หรือสถานการณ์
- (3) บุคลากรของบริษัทต้องไม่รับของขวัญหรือค่าตอบแทนใดๆ ที่เกินสมควร อันเนื่องมาจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่ปกติ อย่างไรก็ตาม บุคลากรของบริษัทสามารถรับของขวัญ และ/หรือ ค่าบริการต้อนรับ และ/หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้ หากเป็นไปตามเทศกาลหรือธรรมเนียมปฏิบัติโดยปกติ
- (4) ห้ามรับของขวัญ หรือค่าบริการต้อนรับ หรือผลประโยชน์อื่นๆ ที่มีมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท ในกรณีที่มูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท ต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือตามระเบียบบริษัทที่กำหนด หรือของขวัญที่เป็นเงินสด หรือเทียบเท่าเงินสด เช่น บัตรของขวัญ บัตรกํานัล เป็นต้น เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่อาจปฏิเสธการรับของขวัญ หรือผลประโยชน์ดังกล่าวได้ในขณะนั้น ผู้รับอาจรับของขวัญหรือผลประโยชน์ไว้ก่อน โดยจะต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาทันที และจัดทําแบบรายงานการรับของขวัญ ส่งให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ทั้งนี้ บริษัท จะพิจารณานําสิ่งของ/ของขวัญที่ได้รับไปดำเนินการตามความเหมาะสม
- (5) บริษัทจะประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรของบริษัททราบถึงแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับของขวัญ การบริการต้อนรับ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของบริษัท เป็นประจําทุกปี หรือผ่านระบบการสื่อสารอื่นๆ ที่บริษัทมีอยู่
- (6) บริษัทจะประชาสัมพันธ์ หรือแจ้งให้ลูกค้า คู่ค้า หรือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัททราบถึงนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับของขวัญ การบริการต้อนรับ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของบริษัท ผ่านช่องทาง หรือระบบการสื่อสาร เอกสารของบริษัท หรือแผ่นพับที่ใช้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของบริษัท เป็นต้น
5. การจ่ายค่าอำนวยความสะดวก
บริษัทไม่มีนโยบายจ่ายเงินค่าอํานวยความสะดวกในรูปแบบใดๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยจะไม่ดําเนินการใดๆ และไม่ยอมรับการกระทําใดๆ เพื่อแลกกับการอํานวยความสะดวกในการดําเนินธุรกิจ โดยบริษัทมีแนวปฏิบัติ ดังนี้
- (1) ห้ามบุคลากรของบริษัท ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ ค่าอำนวยความสะดวก หรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ ประวิงการกระทำการ อันส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท
- (2) การติดต่องานกับภาครัฐ จะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส และปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
6. การว่าจ้างพนักงานรัฐ / เจ้าหน้าที่รัฐ
การว่าจ้างพนักงานรัฐ / เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการทุจริตคอร์รัปชั่นอันเนื่องมาจากผลประโยชน์ทับซ้อน โดยอาจทำให้ลดทอนความเป็นกลางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของรัฐ เพื่อป้องกัน สถานการณ์ดังล่าว บริษัทไม่มีนโยบายจ้างพนักงานรัฐ / เจ้าหน้าที่รัฐเป็นพนักงาน
7. การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
บริษัทกําหนดนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์บนหลักการที่ว่าการตัดสินใจใดๆ ในการดําเนินกิจกรรมทางธุรกิจจะต้องทําเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทเท่านั้น และควรหลีกเลี่ยงการกระทําที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยบริษัทมีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ดังนี้
- (1) บริษัทกำหนดนโยบายการเปิดเผยการมีส่วนได้เสียของกรรมการ ผู้บริหาร และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริษัทมีข้อมูลประกอบการดำเนินการตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันซึ่งเป็นรายการที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์และอาจนำไปสู่การถ่ายเทผลประโยชน์ของบริษัท บริษัทย่อย หรือบุคคลที่มีส่วนเสียได้
- (2) กําหนดให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับรายการที่พิจารณา ต้องแจ้งให้บริษัททราบถึงความสัมพันธ์หรือการมีส่วนได้เสียของตนในรายการดังกล่าว และต้องไม่เข้าร่วมการพิจารณาตัดสินใจ รวมถึงไม่มีอํานาจอนุมัติในธุรกรรมนั้น ๆ
- (3) บุคลากรของบริษัทต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่น โดยใช้ข้อมูลใดๆ ของบริษัท ซึ่งยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ หรือดำเนินการใดๆ ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท
(1) การดําเนินการใดๆ ตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นให้ใช้แนวปฏิบัติตามที่กําหนดไว้ในนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท จรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติอื่นใดที่บริษัทจะกำหนดขึ้นในอนาคต
(2) ห้ามบุคลากรของบริษัท เรียกร้อง ดำเนินการ หรือยอมรับการคอร์รัปชั่นเพื่อประโยชน์ทั้งต่อบริษัท ตนเอง ครอบครัว เพื่อน คนรู้จัก และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
(3) บุคลากรของบริษัท ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท และจรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจ โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
(4) บุคลากรของบริษัทที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น จะถูกพิจารณาโทษทางวินัย ตามระเบียบของบริษัท โดยอาจได้รับการลงโทษขั้นสูงสุดคือ เลิกจ้างหรือยกเลิกสัญญาจ้าง ในขณะเดียวกันบริษัทมีนโยบายที่จะไม่ลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อบุคลากรของบริษัทที่ปฏิเสธการคอร์รัปชั่นแม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ และในกรณีที่การฝ่าฝืนนั้น มีความเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติอาจถูกดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายอีกด้วย
(5) บุคลากรของบริษัทไม่ควรละเลยหรือเพิกเฉยเมื่อพบเห็น หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชั่นโดยต้องแจ้งให้บริษัททราบผ่านช่องทางการรายงานที่กำหนดไว้ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ในระเบียบของบริษัท
(6) บริษัทจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองบุคลากรของบริษัทที่ปฏิเสธหรือแจ้งเรื่องการคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการแจ้งและรายงานการคอร์รัปชั่นตามที่บริษัท กำหนดไว้ในมาตรการคุ้มครองและรักษาความลับ
(7) บริษัทจัดให้มีช่องทางในการสื่อสารที่ปลอดภัยให้บุคลากรของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย สามารถขอคำแนะนำ แจ้งเบาะแส ข้อเสนอแนะหรือร้องเรียน กรณีที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น
(8) บริษัทสื่อสาร เผยแพร่ ให้ความรู้ ให้คำปรึกษาแก่บุคลากรของบริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่นเพื่อให้บุคลากรของบริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นฉบับนี้ รวมถึง การแจ้งให้บุคคลภายนอกทราบว่า นโยบายของบริษัท คือการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยในการต่อต้านคอร์รัปชั่น
(9) บริษัทจัดให้มีการบริหารความเสี่ยงด้านคอร์รัปชั่น โดยมีการประเมินความเสี่ยง จัดลำดับความสำคัญและกำหนดมาตรการที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ประเมินได้ รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าของมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
(10) บริษัทจัดให้มีระเบียบกำหนดอำนาจอนุมัติรายการธุรกิจที่ชัดเจน รัดกุม และมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
(11) บริษัทจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติ ซึ่งมีรายละเอียดเพียงพอต่อการนำไปปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายที่สามารถป้องกันการเกิดคอร์รัปชั่นในการดำเนินธุรกิจ
(12) บริษัทจัดให้มีระบบการควบคุมภายในและระบบการตรวจสอบภายใน เพื่อให้มั่นใจในประสิทธิภาพและประสิทธิผลของนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น ซึ่งครอบคลุมถึงกระบวนการเก็บบันทึกข้อมูลทางการเงิน บัญชี กระบวนการบริหารบุคลากร กระบวนการการจัดซื้อจัดจ้าง และกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังมีการสื่อสารผลการควบคุมภายในให้บุคลากรที่รับผิดชอบทราบ
(13) บริษัทจัดให้มีกระบวนการบริหารบุคลากรที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นต่อนโยบายและมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่นตั้งแต่การคัดเลือกบุคลากร การฝึกอบรม การประเมินผลงาน การให้ผลตอบแทน การเลื่อนตำแหน่ง การจัดโครงสร้างองค์กรให้มีการแบ่งแยกหน้าที่งานอย่างเหมาะสม ตลอดจนการดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่ามีทรัพยากรและบุคลากรที่มีทักษะเพียงพอและเหมาะสมต่อการนำนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นไปปฏิบัติ
(14) บริษัทจัดให้มีกระบวนการที่เหมาะสมเกี่ยวกับการรายงาน การติดตาม และการทบทวนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นเพื่อให้มั่นว่า นโยบายมีความครบถ้วน เพียงพอ และทันต่อสถานการณ์
(15) บริษัทมุ่งมั่นที่จะสร้างและรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นว่าการคอร์รัปชั่น การให้หรือรับสินบน เป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้ และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรให้มีจิตสำนึกที่ดี
(1) คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ในการกําหนดและการกํากับดูแลให้มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล เพื่อสร้างความมั่นใจให้ฝ่ายบริหารได้ตระหนักและให้ความสําคัญกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่นและปลูกฝังจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร
(2) คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่สอบทานให้บริษัทมีการปฎิบัติเป็นไปตามนโยบายและแนวทางปฏิบัติการต่อต้านการคอร์รัปชั่น รวมทั้งรายงานทางการเงิน ระบบควบคุมภายในและงานตรวจสอบภายใน เพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องตามกฎหมาย สอดคล้องตามระเบียบปฏิบัติ และมาตรฐานทางจริยธรรมที่ดี
(3) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้บริหารทุกระดับ มีหน้าที่และรับผิดชอบในการกําหนดให้มีระบบและส่งเสริมสนับสนุนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น เพื่อสื่อสารไปยังพนักงานและผู้เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานรวมทั้งทบทวนความเหมาะสมของระบบและมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับและบทบัญญัติของกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
(4) ฝ่ายตรวจสอบภายในมีหน้าที่และรับผิดชอบในการสอบทานกระบวนการปฏิบัติงาน ว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง ตรงตามนโยบาย แนวปฏิบัติ ระเบียบคําสั่งในการปฏิบัติงานและอํานาจอนุมัติดําเนินการตลอดจนบทบัญญัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่า มีระบบการควบคุมภายในที่มีความเหมาะสมเพียงพอต่อความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชั่นที่อาจจะเกิดขึ้น โดยให้รายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบโดยตรง
(5) ฝ่ายบริหารความเสี่ยงมีหน้าที่และรับผิดชอบ ในการให้คำปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประเมินความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชั่น และกำหนดมาตรการที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
บริษัทได้จัดให้มีช่องทางการร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแส การกระทำผิดกฎหมาย จรรยาบรรณ หรือพฤติกรรมที่อาจส่อถึงการคอร์รัปชั่น หรือประพฤติมิชอบของบุคลากรของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียอื่น รวมถึงการละเมิดนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น โดยมีกลไกในการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูล ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเก็บข้อร้องเรียนไว้เป็นความลับ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ร้องเรียนและผู้มีส่วนได้เสียในการมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลผลประโยชน์ของบริษัท
(1) การเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน
เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรของบริษัท ดําเนินธุรกิจอย่างถูกต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ บริษัทได้จัดให้มีช่องทางการร้องเรียนและการแจ้งเบาะแส ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การรับเรื่องร้องเรียน การตรวจสอบข้อเท็จจริงและการสรุปผล รวมถึงการคุ้มครองผู้แจ้งเรื่องและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับเรื่องร้องเรียน ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสีย ที่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัท หรือจากการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรของบริษัทเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายหรือจรรยาบรรณ รวมถึงพฤติกรรมที่อาจส่อถึงการคอร์รัปชั่น โดยการกระทำดังกล่าวต้องเข้าข่ายการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบของรัฐ หรือนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท จรรยาบรรณและจริยธรรมธุรกิจ และระเบียบข้อบังคับของบริษัท การกระทำที่อาจส่อถึงการคอร์รัปชั่น ซึ่งหมายถึง การกระทำใดๆ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่น
หากผู้ใดพบข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติงานหรือการทํากิจกรรม หรือรายการธุรกิจใดๆ ที่อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนนโยบายและแนวทางปฏิบัติการต่อต้านคอร์รัปชั่นหรือละเมิดกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับของบริษัท จะต้องแจ้งหรือรายงานข้อมูล ดังกล่าวต่อผู้ที่เกี่ยวข้องตามช่องทางในการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสที่กําหนดไว้
(2) ช่องทางในการร้องเรียนและแจ้งเบาะแส
ประธานกรรมการบริษัท / ประธานกรรมการตรวจสอบ / ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร /
คณะทำงานพิจารณารับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส
บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)
เลขที่ 2525 ชั้น 11 อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ ถนนพระราม 4
แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110b
เว็บไซต์ https://investor.ananda.co.th/th/corporate-governance/whistleblowing
(3) การคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน
บริษัทกําหนดนโยบายและแนวทางในการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลหรือแจ้งเบาะแสผู้กระทําผิด โดยจะเก็บรักษาข้อมูลของผู้ร้องเรียนและให้ข้อมูลไว้เป็นความลับ โดยผู้ได้รับข้อมูลจากการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว มีหน้าที่เก็บรักษาข้อมูล ข้อร้องเรียนและเอกสารหลักฐานไว้เป็นความลับ ห้ามเปิดเผย เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ที่กฎหมายกําหนด
ผู้มีส่วนได้เสียที่แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนตามวรรคหนึ่งข้างต้นสามารถเลือกที่จะไม่เปิดเผยตนเองได้ หากเห็นว่าการเปิดเผยนั้นจะไม่ปลอดภัย และบริษัทได้กําหนดมาตรการป้องกันผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนไว้ในระเบียบปฏิบัติงาน โดยมิให้ถือว่าการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน มีความผิดทางวินัย แม้ว่าการกระทําดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทได้
(4) การร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสโดยไม่สุจริต
ในกรณีที่บริษัทพบว่า มีการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสโดยไม่สุจริต หากผู้แจ้งเบาะแส หรือผู้ร้องเรียนเป็นบุคลากรของบริษัท จะได้รับการลงโทษทางวินัย ในกรณีเป็นบุคคลภายนอก หากกระทําการดังกล่าวทําให้บริษัทได้รับความเสียหาย บริษัทจะพิจารณาดําเนินคดีตามกฎหมายกับบุคคลดังกล่าว
บริษัทกำหนดให้มีการทบทวนนโยบาย มาตรการหรือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่นเป็นประจําอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยทุกหน่วยงานตามโครงสร้างองค์กรมีหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันในการทบทวนให้เป็นไปอย่างเพียงพอและเหมาะสม โดยคณะทำงานโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านคอร์รัปชั่นจะเป็นผู้รวบรวมและนำเสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติต่อไป
บริษัทมีนโยบายที่จะสื่อสารและเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นและมาตรการในการต่อต้านการคอร์รัปชั่นให้บุคลากรของบริษัท และบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย หรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท รวมถึงการแจ้งให้บริษัทย่อย บริษัทอื่นที่บริษัทมีอำนาจควบคุม และตัวแทนทางธุรกิจ ได้รับทราบและปฎิบัติตาม ผ่านช่องทางการสื่อสารของบริษัท การประชาสัมพันธ์ เว็บไซต์ของบริษัท หรือช่องทางอื่นๆ ที่เหมาะสม เพื่อให้มั่นใจได้ว่า บริษัทเป็นองค์กรที่ปราศจากการคอร์รัปชั่นมีความโปร่งใสในการดําเนินงานและสามารถตรวจสอบได้
(1) แนวทางปฎิบัติในการสื่อสารให้บุคคลทั่วไปรับทราบ
- (ก) การประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของบริษัท
- (ข) แบบแสดงรายการข้อมูลประจําปี/รายงานประจําปี (แบบ 56-1 One Report )
(2) แนวทางปฎิบัติในการสื่อสารให้บุคลากรของบริษัททราบ
- (ก) เลขานุการบริษัทจะนําเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นให้แก่กรรมการบริษัททุกคนทราบ รวมทั้งจัดให้มีการปฐมนิเทศกรรมการเข้าใหม่เกี่ยวกับเรื่องนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการต่อต้านการคอร์รัปชั่น รวมถึงการมอบสำเนานโยบายและแนวทางปฏิบัติในการต่อต้านการคอร์รัปชั่นให้กรรมการ รวมทั้งการระบุข้อความที่แสดงถึงการยอมรับที่จะปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น เพื่อให้กรรมการได้ลงนามรับทราบ และยึดถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
- (ข) สายงานบริหารทรัพยากรบุคคลมีหน้าที่ อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการต่อต้านการคอร์รัปชั่นให้ ผู้บริหาร และพนักงานรับทราบ รวมทั้งผู้บริหารและพนักงานที่เข้างานใหม่ในการปฐมนิเทศพนักงานใหม่
ผู้บริหารและพนักงานทุกคน จะได้รับสําเนานโยบายและแนวทางปฏิบัติในการต่อต้านการคอร์รัปชั่น รวมทั้งการระบุข้อความที่แสดงถึงการยอมรับที่จะปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น เพื่อให้ผู้บริหาร และพนักงานได้ลงนามรับทราบ และยึดถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
(3) การสื่อสารให้ลูกค้าหรือคู่ค้าทราบ
- (ก) บริษัทจะสื่อสารนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นให้แก่ตัวแทน ตัวกลางทางธุรกิจ ผู้จัดจําหน่ายสินค้า/ให้บริการ และผู้รับเหมาทราบ ตั้งแต่เริ่มต้นความสัมพันธ์ทางธุรกิจ และในภายหลังตามความเหมาะสม ทั้งนี้ บริษัท สนับสนุนให้ตัวแทน ตัวกลางทางธุรกิจ ผู้จัดจําหน่ายสินค้า/ให้บริการ และผู้รับเหมายึดมั่นในการต่อต้านการคอร์รัปชั่น
- (ข) การจัดทําเอกสาร สัญญา โดยระบุเงื่อนไขหรือข้อสังเกตให้กับลูกค้าหรือคู่ค้าทราบถึงนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นของบริษัท
บริษัทจัดให้มีการบริหารความเสี่ยงด้านคอร์รัปชั่น โดยมีการประเมินความเสี่ยง จัดลำดับความสำคัญ และกำหนดมาตรการที่เหมาะสม รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าของมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วอย่างสม่ำเสมอ โดยระบุงานที่มีความเสี่ยงสูงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งมาตรการป้องกันหรือลดความเสี่ยงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
บริษัทมีนโยบายปฏิบัติตามมาตรฐาน หลักการ รวมทั้งกฎหมายที่บังคับใช้เกี่ยวกับรายงานข้อมูล บัญชี และการเงิน และบริษัทไม่ยอมให้มีการบันทึกข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่ถูกต้อง หรือทำการตกแต่งบัญชี รวมทั้งจะต้องไม่มีบัญชีนอกงบการเงินเพื่อใช้สนับสนุนหรือปกปิดการคอร์รัปชั่น
บริษัทได้จัดให้มีหน่วยงานตรวจสอบภายในที่มีความเป็นอิสระ เพื่อทําหน้าที่ประเมินความเพียงพอของระบบการควบคุมภายใน ระบบการบริหารความเสี่ยง กระบวนการกํากับดูแลกิจการ และกิจกรรมที่สำคัญ หรือระบบงานต่างๆ ของบริษัท เช่น การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง การดำเนินงานด้านพาณิชย์ เป็นต้น ว่ามีความเพียงพอ เหมาะสม และมีประสิทธิภาพตรงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ รวมทั้ง มีการปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย ข้อบังคับ นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นของหน่วยงานกํากับดูแลที่เกี่ยวข้อง
บริษัทได้กำหนดขั้นตอนในการรายงานผลการตรวจสอบ ดังนี้
- 1) ฝ่ายตรวจสอบภายในจะต้องรายงานผลการตรวจสอบและประเด็นที่พบต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
- 2) หากพบว่ามีประเด็นเร่งด่วน ฝ่ายตรวจสอบภายในจะแจ้งตรงไปยังประธานกรรมการตรวจสอบทันที
- 3) คณะกรรมการตรวจสอบจะเป็นผู้รายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการบริษัทต่อไป
นอกจากนี้ บริษัทยังมีการตรวจสอบงบการเงินและผลการดําเนินงานโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเป็นประจําทุกไตรมาสและทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลและรายงานทางการเงิน หรือบัญชีเป็นไปอย่างถูกต้อง เชื่อถือได้ ทันเวลา และสอดคล้องกับข้อกําหนดของกฏหมาย